Home / 01 /02 / 03 / 04
Video
วิดีโอต่างจากภาพถ่ายตรงที่วิดีโอสามารถการแสดงภาพที่เคลื่อนไหวได้ ซึ่งเกิดขึ้นจากการแปลงภาพและเสียงเป็นสัญญาณอะนาล็อคและจัดเก็บเป็นข้อมูลในแทบแม่เหล็ก(เทป)ไปพร้อมๆกัน และเราจะสามารถเห็นภาพบันทึกดังกล่าวได้ผ่านเครื่องเล่นที่สามารถแปลงสนามแม่เหล็กในเนื้อเทปให้กลับมาเป็นภาพในรูปของจุดแสงดังเดิม ต่างจากระบบการถ่ายภาพยนตร์ที่เป็นการบันทึกภาพลงบนฟิล์มที่มีสัดส่วนความยาว 25 ภาพ ต่อการบันทึกภาพ 1 วินาที อีกทั้งยังต้องอาศัยกระบวนการล้างฟิล์มเหมือนภาพถ่ายและไม่สามารถบันทึกซ้ำได้เหมือนการบันทึกลงเทป

ภาพยนตร์อาศัยแสงเพื่อฉายผ่านฟิล์มที่เคลื่อนที่ในความเร็ว 25 ภาพ ต่อภาพที่ปรากฏใน 1 วินาที ลงบนจอฉายหนัง ต่างจากวิดีโอที่อาศัยการแปลสัญญาณหรือรหัสข้อมูลที่ถูกบันทึกลงในเทป หรือบันทึกไว้เป็นรหัสเลขฐานสองหลักของระบบดิจิทัลในปัจจุบัน ให้เป็นจุดแสงบนจอภาพหรือจอโทรทัศน์ที่ความละเอียด 576 เส้น

การถ่ายวิดีโอจึงต่างจากการถ่ายภาพยนตร์ได้ตั้งแต่จุดเริ่มต้นไปจนจบกระบวนการทำงาน ความสะดวกในการลบหรือบันทึกซ้ำของวิดีโอ ตลอดจนความแตกต่างในการนำเสนอและการชม เพราะภาพยนตร์มีจุดมุ่งหมายในการนำเสนอในโรงภาพยนตร์ หากแต่วิดีโอมีจุดมุ่งหมายในการนำเสนอที่หลากหลายและแตกต่าง เช่น ดูผ่านจอในกล้อง โทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ หรือจะเป็นจอหน้าห้างสรรพสินค้า แตกต่างไปตามจุดมุ่งหมายของการบันทึกและการนำไปใช้ เช่น ภาพข่าว ภาพเหตุการณ์ประทับใจ หรือจะเป็นภาพส่วนตัว ข้อมูลที่ถูกบันทึกจึงอยู่ในรูปที่ไม่สมบูรณ์และไม่มีความละเอียดเทียบเท่าฟิล์มภาพยนตร์

ความสะดวกในการแสดงผลของวิดีโอจึงสัมพันธ์กับสื่ออุปกรณ์ในการแสดงภาพ โดยเฉพาะโทรทัศน์ที่เป็นสื่อสำคัญในช่วงเริ่มต้นของวิดีโออาร์ต การแสดงผลในทันทีเช่นการถ่ายทอดสดทำให้ส่วนหนึ่งของวิดีโออาร์ตมีจุดเริ่มต้นร่วมกับศิลปะแบบแสดงสด (performance) ที่เกิดขึ้นเพียงชั่วขณะของการแสดงและอ้างถึงเวลาไปแล้ว เช่น ผลงานที่ชื่อ Relation in Time (1977) ของ Marina Abramovic เป็นการแสดงในชั่วโมงที่ 17 ที่ผู้ชมกำลังเห็นต่อหน้า แต่ 16 ชั่วโมงก่อนหน้าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยปราศจากผู้ชม แต่ถูกบันทึกและแสดงในรูปของงานวิดีโอ หรือผลงานที่ต้องการแสดงกระบวนการทำงาน เช่น action painting ของ Jackson Pollock ในปี 1951 หรือมีลักษณะผสมผสานระหว่างการแสดงและดนตรีในผลงาน Blue Women Art (1962) ของ Yves Klein การทำหน้าที่บันทึกภาพในเชิงสารคดี จนถึงการบันทึกภาพไร้สาระของวิดีโอ เกิดจากการที่กล้องวิดีโอเป็นเทคโนโลยีที่คนจำนวนมากสามารถเข้าถึงได้และถูกนำไปใช้ในจุดประสงค์ที่หลากหลาย ทำให้วิดีโอที่ปัจจุบันถูกพัฒนาเป็นระบบดิจิทัล มีความสัมพันธ์กับชีวิตประจำวันมากกว่าภาพยนตร์

สาระสำคัญของผลงานวิดีโออาร์ตในช่วงเริ่มต้นคือความสัมพันธ์ระหว่างเวลาในผลงานกับเวลาในความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นการแสดงภาพทันที(ภาพสด)ในรูปแบบศิลปะจัดวาง เช่น Charlotte Moorman plays the TV Cello (1984) ของ Nam June Paik หรือการยืดเวลาในภาพให้เคลื่อนไหวช้าลงในผลงานของ Douglas Gordon ในผลงาน 24 hr Psycho (1993) ที่ยืดเวลาในภาพยนตร์สยองขวัญเรื่อง Psycho (1960) ให้มีความยาว 24 ชั่วโมง หรือผลงานที่แสดงความคัดแย้งของเวลาในภาพ เช่น The Reflecting Pool (1977) ของ Bill Viola ซึ่งส่งผลกระทบต่อประสบการณ์ของความคุ้นเคยและการรับรู้ด้วยตาที่มีต่อเวลาแก่ผู้ชม

ประทีป สุธาทองไทย

No comments:

Post a Comment

Home / 01 /02 / 03 / 04